bar_chart
0
favorite
0
shopping_cart
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

พาเที่ยว บุโรพุทโธ-ปรัมบานัน ประเทศอินโดนีเซีย

calendar_month 08 ส.ค. 2012 / stylus Admin Chillpainai / visibility 38,071 / เที่ยวต่างประเทศ


สกู๊ปนี้เราจะพาคุณผู้อ่านบินลัดฟ้า มุ่งหน้าสู่เกาะชวา (Java)

เมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakata) ประเทศอินโดนีเซีย

เพื่อพาไปสักการะเเละชมหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก นั่นคือ "บุโรพุทโธ"

และ พาเที่ยวต่อไปยัง "ปรัมบานัน" ศาสนสถานฮินดูที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในอินโดนีเซีย


 

 

พิกัดที่เรายืน เมื่อได้มาซีกโลกใต้ ณ สนามบินเมืองยอกยา

เที่ยวในเมืองง่ายๆ ด้วยการติดต่อรถตู้เอาไว้


 


พุทธศาสนสถาน "บุโรพุทโธ" หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก


 

ภาษาอินโดเรียกว่า Candi Borobudur เป็นพุทธสถานอันงามสง่า หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ตั้งอยู่ใจกลางเกาะชวา อยู่ห่างจากเมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakata) หรือ เราชอบเรียกสั้นๆ ว่า "ยอกยา" หรือจะออกเสียงว่า "จอกจาร์" ก็ได้ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 1293 - 1393 โดยบุโรพุทโธเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ถ้าไม่นับนครวัดของกัมพูชาซึ่งเป็นทั้งศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธ บุโรพุทโธจะเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

 

ประวัติคร่าวๆ เล่ากันนิดนึง

เกี่ยวกับการก่อสร้างพุทธสถานที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ เริ่มต้นในราวพุทธศตวรรษที่ 14 ในสมัยของ กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ แห่งอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งสมัยนั้นหมู่เกาะต่างๆ ของอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอินเดีย ทั้งด้านการค้าและวัฒนธรรม ทำให้ได้รับอิทธิพลทางด้านความเชื่อของฮินดูและพุทธเป็นอย่างมาก แต่กษัตริย์ของศรีวิชัยซึ่งเป็นชาวฮินดู เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และชนชาวศรีวิชัยส่วนใหญ่ก็นับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ทำให้เกาะชวาเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรศรีวิชัยนี้ มหาสถูปบุโรพุทโธ อันงดงามนั้นจึงรังสรรค์ขึ้นด้วยความรักความศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นต่อพระพุทธศาสนาของชนชาวศรีวิชัย

 

บุโรพุทโธคงความยิ่งใหญ่ยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คน ผ่านกาลผ่านสมัยจวบจนเข้าต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งใกล้สิ้นยุคของศรีวิชัย ซึ่งในเวลานั้นชาวโปรตุเกสได้เริ่มเข้ามายึดครองหมู่เกาะต่างๆ และอิทธิพลของศาสนาอิสลามได้เข้ามาแทนที่ บุโรพุทโธได้ถูกลืมเลือนไปและถูกทิ้งร้างท่ามกลางป่าเขาเป็นเวลานับร้อยๆ ปี จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 24 เซอร์โทมัส แสตนฟอร์ด ราฟเฟิล ชาวดัทซ์ ได้ค้นพบบุโรพุทโธขึ้นอีกครั้งในสภาพที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง และมีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรก ในระหว่าง พ.ศ.2448-2453

 

ต่อมาใน พ.ศ.2516 รัฐบาลอินโดนีเซียได้เริ่มต้นโครงการปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งโดยมีองค์การยูเนสโก ของสหประชาชาติ ได้ให้ทุนสนับสนุน รวมทั้งเงินทุนอุดหนุนจากบางประเทศที่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งประเทศไทยก็มีส่วนร่วมด้วย (ขอเพิ่มเติมว่า ท่ารำของระบำศรีวิชัยในบ้านเรานั้น ได้ค้นคว้ามาจากภาพจำหลักที่บุโรพุทโธนี่เอง) ความสง่างามของบุโรพุทโธก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง เฉกเช่นในอดีต เเละได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2534

 

 

สถาปัตยกรรมสื่อความหมายของบุโรพุทโธ

ประติมากรรมแต่ละชิ้นได้รับการจัดวางอย่างงดงามลงตัวและมีความหมายอันมีนัยถึงธรรม ธรรมชาติ หรือจักรวาล โดยสร้างขึ้นจากหินลาวา มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 55,000 ตารางเมตร รูปทรงด้านฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวด้านละ 123 เมตร โดยทั้ง 4 ด้านนี้ แต่ละด้านมีบันไดและซุ้มประตูขึ้นสู่มหาเจดีย์ ซึ่งมีทั้งหมด 10 ชั้น ชั้น 1-6 มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนชั้นที่ 7-10 มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม

 


ภาพมุมสูงของบุโรพุทโธ (ภาพจากอินเตอร์เนต)

 

บุโรพุทโธแบ่งเป็น 3 ชั้นหลักด้วยกัน ซึ่งเปรียบเหมือนชีวิตที่แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ กามธาตุ รูปธาตุ และอรูปธาตุ เป็นลำดับจากพื้นไปถึงยอด

 

จุดแรกที่เราเริ่มต้นเดินชมบุโรพุทโธ คือส่วนฐานของบุโรพุทโธ ชั้นนี้ประกอบด้วยขั้นบันไดใหญ่ 4 ขั้น กำแพงรอบฐานมีภาพสลักประมาณ 160 ภาพ ให้เดินชมได้โดยรอบ โดยภาพที่เด่นๆ ชวนชมในชั้นนี้ก็มี ภาพวิถีชีวิตประจำวันของชาวชวา ภาพแสดงถึงบาปบุญคุณโทษ กฎแห่งกรรมต่างๆ เป็นต้น เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่ยังข้องอยู่ในกาม ผูกพันกับความสุข สนุกสนาน ความปรารถนาทางโลกอันไม่รู้จบ

เราเรียกชั้นเเรกนี้ว่า "กามาธาตุ" หรือขั้นตอนที่มนุษย์ยังผูกพันอย่างใกล้ชิดกับความสุขและความร่ำรวยทางโลก

 


มีรูปปั้นสิงห์อยู่ที่เชิงบันไดทางขึ้น


ในส่วนที่สอง คือส่วนบนของฐาน ผนังทั้งด้านนอกด้านในมีรูปสลักเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและชาดกต่างๆ ประมาณ 1,460 ภาพ (ถ้าเดินรอบก็จะยาวทั้งหมดเกือบ 4 กม.) ภาพในชั้นนี้ส่วนใหญ่จะเป็นภาพพุทธประวัติที่ได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียในสมัยหลังยุคคุปตะ เน้นการสลักภาพบุคคลที่ดูค่อนข้างอวบอ้วนแต่แฝงความสงบอยู่ในที

ในส่วนนี้ถือเป็นขั้นรูปภูมิ หรือชั้น "รูปธาตุ" ที่เปรียบเสมือนขั้นตอนการหลุดพ้นจากกิเลสในทางโลกของมนุษย์เพียงบางส่วน

 




มีพระพุทธรูปเรียงรายในซู้มหน้าต่างโค้งตลอดความยาวผนัง


   
เดินขึ้นบันไดไปสู่ด้านบน ยอดที่เห็นตรงกลางซู้มประตู คือยอดศูนย์กลางของบุโรพุทโธ
 


ภาพแกะสลักพุทธประวัติตอนเสด็จออกผนวช (ภาพจากอินเตอร์เนต)

 


ส่วนที่สาม คือส่วนของฐานกลมที่มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ จำนวน 72 องค์ เจดีย์เหล่านี้ตั้งเรียงรายอยู่ 3 ระดับ โอบล้อมพระเจดีย์องค์ใหญ่ตรงกลางซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของบุโรพุทโธ ภายในพระเจดีย์องค์ใหญ่นั้นไม่ได้บรรจุสิ่งใดไว้ อาจสื่อให้เห็นถึงความว่าง อันถึงที่สุดของนิพพานแล้ว ย่อมไร้ลักษณ์ ไร้รูปรอยใดๆ

 


เจดีย์องค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง เปรียบเสมือนแกนจักรวาล


เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ 72 องค์ เรียงรายกัน 3 ระดับชั้น
 

 

ในส่วนนี้ถือเป็นขั้นอรูปภูมิ ที่มนุษย์ไม่ผูกพันกับทางโลกอีกต่อไป ส่วนการที่มีเจดีย์เรียงรายเป็น 3 ระดับนั้น หลายคนตีความว่าอาจจะสื่อถึงการหลุดพ้นใน 3 ระดับคือ นิพพาน ปรินิพพาน และมหานิพพาน ส่วนเจดีย์องค์ใหญ่ยักษ์ตรงกลางนั้นน่าจะหมายถึงแกนจักรวาล

 




มีนักเรียนอินโดมาทัศนศึกษาเลยขอเก็บภาพเป็นที่ระลึกสักหน่อย


 

เจดีย์จะมีลักษณะโปร่ง เเละยอดตัด ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย นักท่องเที่ยวที่มาสักการะนิยมเอามาสอดเข้าไปสัมผัสองค์พระเพื่อเป็นสิริมงคล แต่ถ้าให้พูดเอาจริงเเล้วก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า คือประเพณีที่ปฏิบัติกันเป็นปกติของชาวอินโดหรือเปล่า

 

 

ไฮไลท์อีกจุดหนึ่งนอกจากเจดีย์องค์ใหญ่ตรงกลางเเล้ว ในบรรดาเจดีย์ 72 องค์นั้นจะมีเพียงองค์เดียวที่ไม่สมบูรณ์แบบ คือส่วนยอดเจดีย์จะหายไป เผยให้เห็นองค์พระพุทธรูปด้านใน นับว่าเป็นหนึ่งในมุมมหาชนของช่างภาพ

 

 

เวลาที่เราเดินชมความงามในบุโรพุทโธนั้น ให้เริ่มเดินตั้งเเต่ชั้นล่างเรื่อยไปจนถึงชั้นบน และหากเราทำการบ้านมาสักหน่อย ได้อ่านคร่าวๆมาก่อนถึงเรื่องราวความเป็นไปและการตีความทางพุทธศาสนาแล้วนั้น จะช่วยให้เราเดินเที่ยวชมได้อ่ยางอิ่มเอม เเละได้อรรถรสยิ่งนัก (เพราะข้าพเจ้าทำบ่อย) ยิ่งจะทำให้เรารู้ว่า ส่วนไหนสำคัญ ส่วนไหนควรชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมาเยี่ยมชมบุโรพุทโธที่มีความยิ่งใหญ่นั้น จะมีรายละเอียดในแทบทุกจุด ถ้าจะให้ดูละเอียดก็ใช้เวลาหลายชั่วโมง


 


"ปรัมบานัน" ศาสนสถานฮินดูที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในอินโดนีเซีย


 

นักท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมชมบุโรพุทโธ ไม่พลาดที่จะเเวะมาที่ "วิหารปรัมบานัน" (Candi Prambanan) ด้วย ส่วนใหญ่เเล้วจะนิยมบรรจุ 2 วัดที่ยิ่งใหญ่เอาไว้ในวันเดียวของโปรแกรมทัวร์ และในวันถัดไปอาจจะไปเที่ยวที่เมืองอื่น บางคนก็มุ่งหน้าไปเมืองสุราบายาอันเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟชื่อดัง "กูนุง โบรโม่" (Gunung Bromo)

 

 

เอาล่ะ ก่อนที่จะไปไกล.... กลับมาที่ปรามบานันกันก่อน "วิหารปรัมบานัน" ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านปรัมบานัน ทางทิศตะวันออกของเมืองยอกยา ปรัมบานันเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบุโรพุทโธ เพราะเป็น เทวสถานในศาสนาฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย เเละเป็นมรดกโลกเช่นเดียวกัน

 

 

วิหารแห่งนี้มีเทวาลัยหลักขนาดใหญ่ 3 หลังด้วยกัน คือ องค์ประธานหลังกลางที่ใหญ่ที่สุด เด่นที่สุด และสูงที่สุด (ประมาณ 47 เมตร) เป็นเทวาลัยที่สร้างขึ้นถวายแด่พระอิศวร อีก 2 หลังเล็กลงมา แบ่งเป็นเทวาลัยทิศเหนือที่สร้างถวายแด่พระนารายณ์ และเทวาลัยทิศใต้ที่สร้างขึ้นถวายแด่พระพรหม นอกจากนี้ปรัมบานันยังมีเทวาลัยขนาดเล็กรายรอบอีกร่วม 250 หลังเป็นองค์ประกอบ รวมไปถึงรูปปั้นรูปสลักอีกมากมาย

 



  
ภาพแกะสลักและงานประติมากรรมแบบฮินดู

 

จริงๆเเล้วพื้นที่ของปรัมบานันกว้างมาก ให้ความรู้สึกเหมือนเดินเที่ยววัดเก่าของอยุธยาบ้านเราเลย ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวนิยมชมตรงจุดสำคัญๆ คือเจดีย์ 5 ยอดตรงกลาง

 


สนามหญ้ากว้างใหญ่รอบๆ ปรัมบานัน

 

 

นอกจากปรัมบานันและบุโรพุทโธแล้ว เมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakata) ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ อาทิ ภูเขาไฟเมอร์ราพี, Kraton หรือวังสุลต่าน, วังตามันซารี ส่วนเมืองโซโลที่อยู่ใกล้เคียงนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นเมืองบาติก (ปาเต๊ะ) ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก

อินโดฯ ใช้เงินสกุลรูเปีย (IDR)  มีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 บาท ประมาณ 250-300 รูปเปีย (ตามการขึ้นลงของค่าเงิน) และเทียบเวลาตรงกับเมืองไทย

ทั้งนี้ผู้สนใจข้อมูลท่องเที่ยวเกี่ยวกับอินโดนีเซียสามารถสอบถามได้ที่ สถานทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2252-3135-9


 

สุดท้ายนี้ก็ฝากแผนที่เล็กๆ เอาไว้ใช้ให้อุ่นใจค่ะ

 



(ภาพจากอินเตอร์เนต)


 

เรื่องและภาพโดย This road is mine
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก http://www.dhammajak.net


 



เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai
close