bar_chart
0
favorite
0
shopping_cart
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

โครงการทางด่วนแก้หนี้ ช่วยแก้ปัญหาผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้ ลงทะเบียนได้เลยทั้งประชาชนและธุรกิจ SMEs

calendar_month 30 ม.ค. 2021 / stylus นางสาวฮานะ ชิลไปไหน / visibility 7,230 / ข่าวท่องเที่ยว

76bc854c754d440af5a7c53cd9ad5548cc080fe8.jpg

ธนาคารแห่งประเทศไทยผุดโครงการ "ทางด่วนแก้หนี้" สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาติดต่อธนาคารไม่ได้' หรือ 'ติดต่อธนาคารได้แล้วแต่ยังตกลงกันไม่ได้' มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้เลย ทั้งประชาชนและธุรกิจ SMEs ซึ่งทางแบงค์ชาติจะเป็นตัวกลางประสานงานเพื่อให้หาข้อยุติร่วมกันและเดินต่อไปด้วยกันได้ โดยสามารถแก้หนี้ได้ทุกประเภท(ยกเว้นหนี้นอกระบบ)


ทางด่วนแก้หนี้คืออะไร

ช่องทางทางด่วนแก้หนี้คือ “ช่องทางเสริม” รับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงที่มีมาตรการเว้นระยะทางสังคมเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส โควิด 19 ซึ่งอาจทำให้ลูกหนี้ ไม่สามารถติดต่อผู้ให้บริการได้ เนื่องจากมีลูกค้าติดต่อเข้าไปจำนวนมาก หรือกรณีที่ลูกหนี้ติดต่อผู้ให้บริการแล้ว แต่ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกัน เช่น คุณสมบัติไม่ผ่าน หรือเห็นว่าจะไม่สามารถจ่ายชาระหนี้ได้แม้จะมีมาตรการผ่อนปรนของผู้ให้บริการแล้วก็ตาม 


วิธีการทำงานของทางด่วนแก้หนี้

โดยอันดับแรกทางแบงค์ชาติแนะนำว่าให้ทางลูกหนี้ติดต่อผู้ให้บริการโดยตรงก่อน แต่หากไม่มีความคืบหน้าหรือข้อเสนอลูกหนี้ไม่ได้รับการพิจารณาให้มาใช้ทางด่วนแก้หนี้ ซึ่งเมื่อลูกหนี้กรอกข้อมูลในทางด่วนแก้หนี้ครบถ้วนแล้ว ข้อมูลจะถูกส่งต่อไปยังผู้ให้บริการที่ระบุไว้ ในปัจจุบันกำหนดวงรอบการส่งข้อมูลคำขอไปยังผู้ให้บริการ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ทุกวันจันทร์และพฤหัสบดี และอาจ พิจารณาส่งข้อมูลถี่ขึ้นหากมีลูกหนี้เข้ามาใช้ช่องทางจำนวนมาก 



ลูกหนี้ประเภทไหนที่เข้าร่วมโครงการนี้ได้บ้าง

ลูกหนี้ทุกประเภทวงเงิน ทุกสถานะการชำระหนี้สามารถใช้ช่องทางทางด่วนแก้หนี้ได้ ทั้งกรณที่มีสถานะปกติแต่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว หรือเป็นหนี้เสีย (NPL) หรือปรับโครงสร้างหนี้แล้วแต่ประสบปัญหาในขณะนี้ก็สามารถส่งคำขอผ่านช่องทางนี้ได้ 

ทางด่วนแก้หนี้ติดต่อส่งคำขอแก้หนี้ไปยังสถาบันการเงินทุกแห่ง ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ตลอดจน ผู้ประกอบการสินเชื่อบัตรเครดิต และผู้ประกอบการสินเช่ือส่วนบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับ 

แม้ในกรณีที่ผู้ประกอบการสินเชื่ออยู่นอกการกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อ ลีสซิ่ง ทางด่วนแก้หนี้ก็ยังรับเป็นตัวกลางประสานงาน โดยสามารถรวบรวมคำขอแก้หนี้เพื่อส่งไปให้พิจารณา ให้ความอนุเคราะห์ได้ แต่จะใช้เวลาในการติดต่อประสานงานมากกว่ากรณี เป็นหน่วยงานในการกำกับฯ ในขณะเดียวกันลูกหนี้ควรพยายามติดต่อผู้ให้บริการผ่านช่องทางติดต่อตามปกติไปด้วย 


วิธีการกรอกข้อมูลในทางด่วนแก้หนี้

สามารถเข้าไปกรอกข้อมูลได้ที่ http://bit.ly/3iXWV1C ควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน โดยเฉพาะ หมายเลขบัตรประชาชน/ทะเบียนนิติบุคคลและเบอร์โทรศัพท์ (ควรเช็คอย่างน้อย 2 ครั้ง ก่อนส่ง) รวมทั้งระบุชื่อผู้ให้บริการให้ชัดเจน มิฉะนั้นจะทำให้ไม่สามารถส่งคำขอไปยังผู้ให้บริการได้ หรือผู้ให้บริการอาจจะหาบัญชีของลูกหนี้ไม่พบ ทำให้เรื่องไม่ได้รับการพิจารณาหรือไม่สามารถติดต่อกลับได้ 

คำขอของลูกหนี้จะถูกส่งไปยังผู้ให้บริการที่ระบุไว้ชัดเจน โดยในคำขอสำหรับผู้ให้บริการหนึ่งแห่งอาจมีสินเชื่อหลายวงเงินก็ได้ หากไม่สามารถกรอกคำขอได้ครบถ้วนในคราวเดียวก็สามารถกรอกเพิ่มเติมได้ 

การส่งคำขอนี้จะเสร็จสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้ยืนยันรหัสยืนยันตัวตนตามที่ได้รับผ่านทาง SMS หรือ Email อย่างถูกต้อง ซึ่งบนหน้าจอรับเรื่องจะปรากฏข้อความแจ้งว่าทางด่วนแก้หนี้ได้รับคำขอแล้ว

 

ขั้นตอนหลังจากยื่นคำร้อง
(1)ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) จะจัดส่งข้อมูลคำขอแก้หนี้ไปยังผู้ให้บริการที่ระบุไว้
(2) ตามปกติผู้ให้บริการจะใช้เวลาพิจารณาแต่ละกรณีประมาณ 7-10 วัน หลังจากนั้นผู้ให้บริการจะติดต่อแจ้งผลการพิจารณาให้ลูกหนี้ทราบผ่านช่องทางติดต่อที่ผู้ให้บริการมีข้อมูล เช่น หมายเลขโทรศัพท์ หรืออีเมล์
(3) 15 วันหลังจากยื่นเรื่องหากลูกหนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อ สามารถที่จะโทรตรวจสอบผลการพิจารณาเบื้องต้นได้ที่ ศคง. โทร.1213 

ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องจะสอบถามข้อมูลที่ได้ให้ไว้ อาทิ หมายเลขบัตรประชาชน/ทะเบียนนิติบุคคล และเบอร์โทรศัพท์เพื่อยืนยันตัวตนให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเราจะต้องเตรียมข้อมูลสำคัญดังกล่าวให้พร้อม ซึ่งหากไม่ตรงกันเจ้าหน้าที่จะไม่สามารถแจ้งผลการ พิจารณาให้ทราบได้ 

และตั้งแต่ 15 มิ.ย. 2563 เป็นต้นไปลูกหนี้สามารถตรวจสอบสถานะคำขอและผลการพิจารณาได้ด้วยตนเอง โดยใช้รหัสยืนยันตัวตนที่ได้รับในการยื่นคำขอครั้งล่าสุดประกอบกับข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้ให้ไว้


ที่มา : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

เขียนโดย
นางสาวฮานะ ชิลไปไหน
นางสาวฮานะ ชิลไปไหน