bar_chart
0
favorite
0
shopping_cart
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

คณะแพทย์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ค้นพบวิธีการตรวจหาเชื้อโควิดทางน้ำลาย

calendar_month 24 เม.ย. 2020 / stylus Admin Chillpainai / visibility 4,809 / ข่าวท่องเที่ยว

9b0d9240f7a0425ff8c4b26326232afc22671c03.jpg


ข่าวดีสำหรับวงการสาธารณสุขไทย เมื่อล่าสุด คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แถลงข่าว เรื่องความสำเร็จในการคัดกรองผู้ติดเชื้อ COVID-19 จากน้ำลายและการใช้เทคโนโลยี LAMP PCR ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ที่สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น


ด้วยในปัจจุบัน การวินิจฉัยการติดเชื้อ COVID-19 ใช้ตัวอย่างตรวจจากทางเดินหายใจส่วนต้น โดยการเก็บตัวอย่างตรวจจากโพรงหลังจมูก (nasopharyngeal) และลำคอ (throat) โดยการเก็บสิ่งส่งตรวจนั้นต้องใช้อุปกรณ์การเก็บ (swab) ซึ่งเก็บสิ่งส่งตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ ผู้รับการตรวจอาจมีความระคายเคืองและเจ็บจากการเก็บสิ่งส่งตรวจ ซึ่งบุคลากรผู้เก็บตัวอย่างมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อีกทั้งการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ยังเป็นปัญหาทั่วโลก


จากการศึกษาพบว่าต่อมน้ำลายมีตัวรับ (receptor) ของเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นสาเหตุของ COVID-19 และพบว่าในผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันการวินิจฉัยโรค COVID-19  แล้ว สามารถตรวจพบเชื้อได้ในน้ำลายในช่วงที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล คณะผู้วิจัยจึงได้เก็บตัวอย่างน้ำลาย และตัวอย่างตรวจจากโพรงหลังจมูกและลำคอ จากผู้เข้ารับการตรวจที่คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI clinic) ในโรงพยาบาลรามาธิบดีที่มีอาการทางเดินหายใจและเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังและสอบสวนผู้ป่วย COVID-19  (PUI) ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19  ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 200 ราย


โดยให้ผู้เข้ารับการตรวจบ้วนน้ำลายใส่กระป๋องก่อนทำการเก็บตัวอย่างมาตรฐาน คือ ตัวอย่างจากโพรงหลังจมูกและลำคอ และนำมาตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ด้วยการทดสอบ RT-PCR ในตัวอย่างน้ำลาย จากการศึกษานี้พบเชื้อ SARS-CoV-2 จากการตรวจจากตัวอย่างมาตรฐาน 19 ราย (ร้อยละ 9.5) และตรวจพบ SARS-CoV-2 จากการตรวจตัวอย่างน้ำลาย 18 ราย (ร้อยละ 9.0) โดยเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีมาตรฐานพบว่าการทดสอบ RT-PCR ในน้ำลาย มีความไว (sensitivity) ร้อยละ 84.2 ความจำเพาะ (specificity) ร้อยละ 98.9 และมีความสอดคล้องของผลตรวจ (agreement) ร้อยละ 97.5


ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่าการใช้น้ำลายเพื่อเป็นตัวอย่างในการตรวจวินิจฉัย COVID-19  มีความไวและความจำเพาะสูง การเก็บน้ำลายเพื่อเป็นตัวอย่างในการตรวจวินิจฉัย COVID-19  มีความเป็นไปได้ในการนำไปต่อยอดในการค้นหาผู้ป่วยในชุมชน และสถานที่ที่มีทรัพยากรจำกัด เนื่องจากการตรวจมีความสะดวก และสามารถเก็บตัวอย่างได้รวดเร็วในกลุ่มประชากรจำนวนมากได้ อีกทั้งยังสามารถลดการใช้ PPE และอุปกรณ์เก็บสิ่งส่งตรวจ คณะผู้วิจัยกำลังดำเนินการศึกษาวิธีการตรวจหาการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่มีความไวสูง เพื่อเป็นเครื่องมีในการวินิจฉัย COVID-19  ที่ดียิ่งขึ้นต่อไป


ที่มา : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี


เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai
close