bar_chart
0
favorite
0
shopping_cart
0
ยังไม่มีสินค้าในตะกร้า.

10 ที่เที่ยวของคนปีชงไปแล้วสบายใจ ยิ่งไป ยิ่งเฮง!!

calendar_month 12 ก.พ. 2016 / stylus Admin Chillpainai / visibility 49,446 / สถานที่ยอดนิยม

สำหรับปี 2559 ใครที่รู้ตัวว่าชง แถมเริ่มต้นปีก็มีเรื่องให้เครียด ให้ไม่สบายใจ วันนี้ชิลไปไหนจะพาเพื่อนๆ ไปไหว้พระเพื่อเสริมสิริมงคลกับชีวิต และสำหรับใครที่เกิดปีชงกลัวเที่ยวแล้วจะไม่สบายใจรับรองว่าสกู๊ปนี้ช่วยได้อย่างแน่นอน ซึ่งวัดจีนในกรุงเทพฯ ก็มีอยู่หลายแห่งด้วยกันแต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ อีกทั้งนอกจากจะได้เดินทางไปขอพรแล้วคุณยังได้ชื่นชมความสวยงามของวัดนั้นๆ ถือว่าเป็นการท่องเที่ยวไปในตัวอีกด้วย


ปีชง 2559 ตรงกับปีเกิด ของคนเกิดปีขาลแบบ 100% ให้ไว้ขอพรและนำดวงชะตาไปฝากกับเทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ย และนอกคนเกิดปีขาลแล้วยังมีปีชงร่วม ซึ่งได้แก่ปีวอก ให้ไหว้เจ้าแม่กวนอิมพันมือเพื่อเสริมบารมี ปีมะเส็ง ให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศล บริจาคสิ่งของเวศภัณฑ์และยารักาษาโรค และปีกุน ให้อุทิศส่วนกุศลทำบุญให้เจ้ากรรมนายเวรเพื่อผ่อนหนักเป็นเบา



วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) - เยาวราช

วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดจีนสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ระหว่างซอยเจริญกรุง 19 และ 21 ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ เป็นที่คุ้นเคยในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนจากต่างประเทศ สาเหตุที่วัดนี้บางคนเรียกว่า "วัดมังกร" เพราะคำว่า "เล่ง" หรือ "เล้ง" ในภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่ามังกร (คำว่า “เน่ย” แปลว่าดอกบัวและคำว่า “ยี่” แปลว่า วัด) ชื่อวัดอย่างเป็นทางการคือ "วัดมังกรกมลาวาส" พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 นั้นเอง

วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) - เยาวราช

 

ที่ตั้ง : ระหว่างซอยเจริญกรุง 19 - 21 กรุงเทพฯ
เวลา : 6.00 - 18.00 น. ทุกวัน
โทรศัพท์ : 02 222 3975, 02 226 6553



วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร - เยาวราช

วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นวัดโบราณสร้างเมื่อสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน เดิมมีชื่อว่า วัดสามจีนใต้ มีคำเล่ากันว่าวัดสามจีน เดิมมีอยู่สามวัด คือ วัดสามจีนอยู่ในคลองบางอ้อด้านตรงข้ามกับเทเวศร์วัดหนึ่ง วัดสามจีนเหนือ บางท่านก็ว่าอยู่ที่บางขุนพรหม บางที่ก็ว่าอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี สำหรับวัดที่อยู่บางขุนพรหม คือ วัดสังเวชวิศยาราม ส่วนที่อยู่จังหวัดนนทบุรี ได้แก่ วัดโชติการาม อำเภอเมืองนนทบุรี และวัดสามจีนใต้ ได้แก่ วัดไตรมิตรวิทยาราม เหตุที่เรียกว่าวัดสามจีน ก็เนื่องด้วยเหตุว่ามีชาวจีน3 คนได้ช่วยกันก่อสร้างขึ้นมาจึงได้นามว่า “วัดสามจีน”

วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร - เยาวราช

ที่ตั้ง : เยาวราช กรุงเทพฯ
เวลา : 5:00 - 23:00 น.



วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร - อรุณอัมรินทร์

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร หรือ "วัดกัลยา" มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ชื่อ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต เป็นรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ประดิษฐานในวิหารใหญ่กลางวัด และพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์(ป่าเลไลย์) ประดิษฐานในอุโบสถ มีความเชื่อกันว่าหากใครไหว้พระที่วัดกัลยาจะทำให้พบเจอแต่มิตรที่ดี

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร - อรุณอัมรินทร์
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร - อรุณอัมรินทร์  วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร - อรุณอัมรินทร์

ที่ตั้ง : ซอยอรุณอัมรินทร์ 6 กรุงเทพฯ



วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2) - บางบัวทอง

วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ ตั้งอยู่ที่ ถนนบางกรวย - ไทรน้อย ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี วัดแห่งนี้เดิมเป็นเพียงโรงเจขนาดเล็ก ต่อมาเจ้าอาวาสวัดเล่งเน่ยยี่ กรุงเทพฯ ร่วมกับพุทธบริษัทไทย - จีน ได้พัฒนาเป็นวัดที่สมบูรณ์สวยงามในเนื้อที่รวม 12 ไร่ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างถึง 12 ปี จึงแล้วเสร็จ

วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2) - บางบัวทอง
วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2) - บางบัวทอง  วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2) - บางบัวทอง

ที่ตั้ง : บางกรวย - ไทรน้อย ต.โสนลอย อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
เวลา : 6.00 - 18.00 น. ทุกวัน


ศาลเจ้าพ่อกวนอู - เยาวราช

ท่านกวนอู หยุน ฉาง (ภาษาจีนกลางเรียกนามท่านว่า กวนอี่ว์) เป็นพี่น้องร่วมสาบานกับเล่าปี่ และเตียวหุย ตามพงศาวดารเรื่องสามก๊ก หน้าท่านแดงตลอดเวลาเหมือนพุทราสุก มีหนวดเครางดงาม มีง้าวเป็นอาวุธคู่กาย ท่านมีความรอบรู้ด้านการทหารมาก มีพาหนะสุดยอด คือ ม้าเซ็กเทา ท่านร่วมชีวิตในการศึกร่วมกับเล่าปี่ด้วยความซื่อสัตย์จงรักภักดีและกล้าหาญ หลังจากท่านสิ้นชีวิตลง ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งคุณธรรม และมีความซื่อสัตย์สูงส่ง

 ภายในศาลเจ้าพ่อกวนอู ประดิษฐานรูปปั้นของท่าน และด้านข้างมีรูปปั้นเทพเจ้าม้า (เบ๊เอี๊ย) เซ่นไหว้รูปม้าพร้อมกับเขย่าลูกกระพรวน ซื้อผักให้เทพเจ้าม้า และถวายของไหว้ได้ ณ ศาลแห่งนี้ ศาลเจ้าพ่อกวนอู (บางคนเรียกศาลเจ้าพ่อม้า) ผู้หลักผู้ใหญ่เก่าๆ มักแนะนำให้ลูกหลานมาไหว้ท่านทุกปี 

การไหว้เจ้าพ่อกวนอู สำหรับบุคคลเกิดดวงชะตาธาตุต่างๆ




ศาลเจ้าพ่อกวนอู - เยาวราช  ศาลเจ้าพ่อกวนอู - เยาวราช

ที่ตั้ง : ตรอกโรงโดม ซอยอิสรานุภาพ (เยาวราช11) เดินตรงจากศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยมาเล็กน้อย ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ
เวลา : ทุกวัน 7.00 -17.00 น.
โทรศัพท์ : 02 226 4473-4



ศาลเจ้าพ่อเสือ - เสาชิงช้า

ศาลเจ้าพ่อเสือ ตั้งอยู่เลขที่ 468 ถนนตะนาว ในบริเวณที่ตัดกับถนนอุนากรรณ ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นศาลเจ้าชาวจีนแต้จิ๋ว (สายลัทธิเต๋า) ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย คนจีนเรียกกันว่า"ตั่วเล่าเอี้ย" เป็นศาลเจ้าที่ประดิษฐาน เฮี้ยงเทียนเซียงตี่ (เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่ ก็เรียก), รูปเจ้าพ่อเสือ, เจ้าพ่อกวนอู และ เจ้าแม่ทับทิม เป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวไทยและจีนเป็นอย่างมาก เพื่อความสะดวกไม่ควรขับรถมา เนื่องจากสถานที่จอดรถมีจำนวนจำกัด และควรแต่งกายสุภาพ

ศาลเจ้าพ่อเสือ - เสาชิงช้า

ที่ตั้ง : ถนนตะนาว ใกล้กับเสาชิงช้า 
เวลา : ทุกวัน 6.00 - 17.00 น.



ศาลเจ้าแม่กวนอิม (มูลนิธิเทียนฟ้า) - เยาวราช

ศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า อยู่ที่ถนนเยาวราชเดินเลยวงเวียนโอเดียนมานิดหน่อย เดินมองไปทางซ้ายมือก็จะพบได้
ไม่ยาก มูลนิธิแห่งนี้มีศาลรูปเคารพของเจ้าแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ปางประทานพร ประดิษฐานเป็นเทพเจ้าองค์ประธาน ผู้คนนิยมมาขอพรให้ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพแข็งแรง องค์ทำด้วยไม้จันทน์แกะสลัก รูปแบบศิลปะราชวงศ์ถัง แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้น ในสมัยของราชวงศ์ซ่งหรือเมื่อประมาณ 800-900 ปีที่ผ่านมา และเมื่อในปี พ.ศ. 2501 ได้ถูกอัญเชิญมาจาก ประเทศจีนมาประดิษฐานอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน

ศาลเจ้าแม่กวนอิม (มูลนิธิเทียนฟ้า) - เยาวราช

ที่ตั้ง : ถนนเยาวราช เลยวงเวียนโอเดียนตั้งอยู่ทางซ้ายมือ
เวลา : ทุกวัน 6.00 - 20.00 น.
โทรศัพท์ : 02 237 2190-1, 02 233 0955



ศาลเจ้าพ่อเฮ้งเจีย - ตลิ่งชัน

เจ้าพ่อเฮ้งเจีย หรือซุนหงอคง เป็นเทพผู้ประทานความสุขและเป็นผู้กำจัดเหล่าปีศาจร้าย ชนชาวจีนจึงนิยมกราบไหว้และบูชามาก ปัจจุบันศาลเจ้าหลายแห่งจะมีรูปเคารพของเทพวานร หรือเจ้าพ่อเห้งเจีย เพื่อไว้ให้คนที่เลื่อมใสศรัทธามีโอกาสเข้าไปสักการะขอพร



ศาลเจ้าพ่อเฮ้งเจีย - ตลิ่งชัน 

ที่ตั้ง : สวนผัก ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
โทรศัพท์ : 02 435 1143, 02 884 2522-3



วัดกัมโล่วยี่ หรือ วัดทิพยวารีวิหาร - บ้านหม้อ

วัดทิพยวารีวิหาร สร้างในสมัยกรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2319 รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชทานที่ดินฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นที่อาศัย ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ องค์เชียงสือนัดดาเจ้าเมืองเว้ ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและได้ลักลอบหนีกลับเมือง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงแคลงพระทัยชาวญวนจึงได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กลุ่มชนชาวญวนซึ่งมีอยู่มากในบริเวณนั้น ย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่อื่น เพื่อให้ห่างจากพระนคร ชุมชนบริเวณนี้ซึ่งเคยเป็นที่อาศัยของคนไทย คนจีน และคนญวน เชื้อสายพุทธจึงอยู่ในความเงียบสงบ วัดทิพยวารีวิหาร (กัมโล่วยี่) ในขณะนั้นจึงมีสภาพคล้ายรกร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาเลยอีกนานหลายปี จนถึงประมาณปี พ.ศ.2439 พระอาจารย์ไหซัน พระภิกษุจีนชาวมณฑลหูหนาน ได้จาริกมาจำพรรษาที่วัดทิพยวารีวิหารแห่งนี้ ท่านจึงได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ จนวัดอยู่ในสภาพสมบูรณ์สวยงาม เหตุที่ให้ชื่อวัดเป็นเช่นนี้ เพราะที่วัดนี้มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือบ่อน้ำทิพย์อยู่นั่นเอง ตั้งแต่นั้นมาคนทั้งหลายจึงเรียกวัดกัมโล่วยี่ หรือวัดน้ำทิพย์นี้เป็น "วัดทิพยวารีวิหาร" อันเป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายจนถึงปัจจุบัน

วัดกัมโล่วยี่ หรือ วัดทิพยวารีวิหาร - บ้านหม้อ

ที่ตั้ง : 119 ซอยทิพยวารี ถนนตรีเพชร เขตพระนคร (บ้านหม้อ) กรุงเทพฯ 10200



ศาลเจ้าเล่งบ้วยเอี๊ยะ - เยาวราช

ศาลเจ้าเล่งบ้วยเอี๊ยะ ตั้งอยู่ที่ซอยอิศรานุภาพ ถนนเยาวราช มีประวัติความเป็นมายาวนาน สร้างขึ้นเมื่อคริสต์ศักราชที่ 17 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนกลาง เนื่องจากมีป้ายที่เหลืออยู่ในศาลนี้มีข้อความที่บ่งบอกปีศักราชของจีน ทำให้ทราบว่าศาลเจ้านี้สร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2201 และคำแปลอักษรจีนของป้ายในศาล มีความหมายว่า ผู้ที่ได้เข้ามาอธิษฐานขอพรภายใต้ป้ายนี้จะได้รับพรตามความประสงค์ นอกจากนั้นยังมีกลอง ระฆังที่เก่าแก่อย่างมากอีกด้วย ความเชื่อในการกราบไหว้ เป็นเรื่องความมั่งคั่งทางการค้า ความก้าวหน้าในกิจการ และกราบไหว้เพื่อขอให้เลี้ยงบุตรง่าย สุขภาพแข็งแรง และเติบโตอย่างปลอดภัย

ศาลเจ้าเล่งบ้วยเอี๊ยะ - เยาวราช

ที่ตั้ง : เยาวราช 11 (ซอยอิสรานุภาพ) สัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
เวลา : ทุกวัน 7.00 - 17.00 น.


Story by : ชิลไปไหน

 

เขียนโดย
Admin Chillpainai
Admin Chillpainai